Sunday 24 April 2011

ฮิวโก-จุลจักร จักรพงษ์ (ตอนที่ 1) >>> ‘Old Tyme Religion’ จุดเริ่มต้นของความเป็นระดับโลก / พอล เฮง

Entertainment - Manager Online - Music Shines : ฮิวโก-จุลจักร จักรพงษ์ (ตอนที่ 1) >>> ‘Old Tyme Religion’ จุดเริ่มต้นของความเป็นระดับโลก / พอล เฮง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 เมษายน 2554 18:00 น.

paulheng_2000@yahoo.com

''ผมพยายามที่จะทำเพลงเพลงแบบร็อกแอนด์โรลในยุคสมัยของฮิพฮอพ''

ข้างต้นเป็นบางถ้อยคำในการให้สัมภาษณ์สื่อของ ฮิวโก-จุลจักร จักรพงษ์ ซึ่งเป็นนักร้อง-นักเขียนเพลง (Singer+Songwriter) คนแรกของไทยที่มีอัลบั้มเพลงออกในตลาดอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดเพลงโลกไปในตัว

ถึงจุดนี้ก็นับได้ว่า มาไกลเหลือเกินจากมาตรฐานของวงการเพลงไทยร่วมสมัย ตั้งแต่อุตสาหกรรมและธุรกิจดนตรีเกิดขึ้นมา ใครจะเชื่อว่า เด็กหนุ่มซึ่งมีหน่อเนื้อเชื้อราชนิกูลและเป็นลูกครึ่ง ซึ่งทำวงดนตรีร๊อคแอนด์โรลที่เล่นเพลงในแบบพ๊อพร๊อคกลิ่นอายดนตรีเซาเธิร์ นร๊อคยุคทศวรรษที่ 70 ของตะวันตก จะพาตัวเองทะลุเพดานมาไกลถึงเพียงนี้ ทั้งที่ไม่ใช่นักร้องหรือวงดนตรีที่อยู่ในขั้นพ๊อพสตาร์หรือโดดเด้งในฐานะ ซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทย

วงสิบล้อ เป็นวงดนตรีที่เป็นภูมิหลังของเขาในเมืองไทย และบทเพลง ‘ความลับในใจ’ น่าจะ
เป็นบทเพลงฮิตที่สุดในตลาดเพลงกระแสหลักของเมืองไทย เขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางการเมือง วงดนตรีที่ขึ้นเวทีร้องเพลงประท้วงทางการเมืองบนเวทีของพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยในยุคของการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 หลังจากออกอัลบั้มชุดที่ 4 ‘เงินๆ ทองๆ’ ในนามวงสิบล้อ เขาก็ออกเดินทางไปหาแรงท้าทายของดนตรีที่อังกฤษ

คงไม่ต้องเท้าความกันมาถึงตัวตนของฮิวโกในฐานะคนดนตรีในเมืองไทย แต่มามองกันที่ตัวงานในอัลบั้มชุดแรกของเขาในฐานะโซโล่ อาร์ติสท์ หรือศิลปินเดี่ยวในชื่อสั้นๆ ว่า ฮิวโก (Hugo) กับงานชุด ‘Old Tyme Religion’

[1] ‘สายลม’ บทเพลงเหงาอ้างว้างทรงพลัง

‘สายลมพาเดินทาง แต่หัวใจฉันอยู่ที่เดิม
ใจมันร้องเวลามันนานนาน เมื่อไหร่สายลมจะเปลี่ยนทาง’

การกลั่นน้ำเสียงที่เค้นออกมาจากความรู้สึกอ้างว้างเหงารันทดอยู่ภาย ใน ถูกสื่อสารออกมาในท่อนฮุควนหมุนเวียนที่ดำเนินต่อเนื่องในบทเพลงนี้ ตอกย้ำลงไปด้วยการกรีดเสียงของเปียโนที่เล่นโดยคีย์บอร์ด ช่องว่างระหว่างโน้ตที่ก้องกังวานแปร่งหวานเศร้าในอณูดนตรี ช่วยตรึงให้อารมณ์ดำดิ่งลงไปอีกโสตหนึ่ง

บทเพลงนี้เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องภาษาไทยเพลงเดียวในอัลบั้ม และใส่เฉพาะอัลบั้มที่วางจำหน่ายในเมืองไทยเท่านั้น เพราะเข้าไปดูรายชื่อบทเพลงทั้งหมดของอัลบั้มที่จำหน่ายในต่างประเทศ ไม่มีบทเพลง ‘สายลม’ (Sai Lom) บรรจุอยู่

เมื่อมาดูถึงเนื้อร้องของ ‘สายลม’ ที่ฮิวโก เขียนเนื้อร้องออกมา สะท้อนถึงความเรียบง่ายทว่าลุ่มลึกของการเขียนภาษาที่ธรรมดาแต่แฝงสื่อนัยยะ อารมณ์ความรู้สึก และความหมายจากก้นบึ้งจิตสำนึกของตัวเองออกมาค่อนข้างมาก

‘เหมือนแมลงบินไล่หลอดไฟ
ร้องยังไงก็เข้าไม่ถึง
เกิดเป็นคนนอกอยากเป็นคนใน
ทุกก้าวที่เดินยิ่งไกลยิ่งห่าง
สายลมพาเดินทาง
แต่หัวใจฉันอยู่ที่เดิม
ใจมันร้องเวลามันนานนาน
เมื่อไหร่สายลมจะเปลี่ยนทาง
เคยคิดบ้างไหมว่าฉันไม่เต็ม
แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์คือฉันรักเธอ
พออยู่ห่างไกลจะมองไม่เห็น
จะหนาวจะเย็นกับความเงียบเหงา
สายลมพาเดินทาง
แต่หัวใจฉันอยู่ที่เดิม
ใจมันร้องเวลามันนานนาน
เมื่อไหร่สายลมจะเปลี่ยนทาง...’

ความโดดเด่นของบทเพลงนี้ก็คือ นำดนตรีในแนวบัลลาดร๊อคกลิ่นอายไพรัชหรือเอ็กโซติคที่มีความประหลาดลอยฟุ้ง ผ่านเสียงสังเคราะห์อยู่ในบรรยากาศ เป็นพาหะได้สอดคล้องกลมกลืนกับเนื้อร้องภาษาไทยที่มีสุนทรียภาพด้านโวหารที่ เรียกว่า อุปมาอุปไมยหรือเปรียบเทียบในลักษณะที่ซื่อตรงง่ายๆ แต่กินความหมายได้ลึกซึ้งดำดิ่งลึกเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างยอด เยี่ยม ฟังแล้วสามารถกำซาบความรู้สึกร่วมเหงาอ้างว้างอย่างที่รู้สึกได้ กำจายออกมาในตัวเพลงทั้งเนื้อร้องและดนตรี

แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางดนตรีและการเขียนเนื้อร้องที่เป็นเอกภาพ และรุดหน้าไปอย่างเด่นชัด เมื่อเปรียบเทียบกับงานเพลงจากในนามวงสิบล้อ ความนวลเนียนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวทั้งเนื้อร้อง ดนตรี และอารมณ์ความรู้สึกที่สื่อสารออกมาผ่านเสียงร้องนั้น ฮิวโกกำลังจับจิตวิญญาณของดนตรีร๊อคในแบบตะวันตกอยู่มือและสื่อสารความเป็น ตะวันออกร่วมสมัย (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ตะวันออกหรือไทยประเพณีแบบเทรดิชัน) โดยเฉพาะความรู้สึกของคนเมืองที่เคว้งคว้างล่องลอยอยู่ในที่แปลกถิ่นไม่รู้ ว่าตัวเองยืนอยู่ที่จุดใด เป็นภาวะความย้อนแย้งภายในที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างแยบคายลึกซึ้งในความ รู้สึก ผ่านเรื่องราวที่ง่ายๆ และสัมผัสได้ไม่ยากเย็นในการส่งสารออกมาและกระทบความรู้สึกทันที

[2] จุดจบคือจุดเริ่มต้น

‘สายลม’ เป็นบทเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม ‘Old Tyme Religion’ ที่วางจำหน่ายในเมืองไทย แน่นอนอัลบั้มนี้ถูกวางขายในตลาดอเมริกาเหนือและทั่วโลก และช่วงนี้เป็นการเดินทางหรือทัวร์โปรโมทอัลบั้มชุดนี้ของฮิวโก ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูจากตารางทัวร์แล้ว ก็ถือว่าถี่และหนักหนาเอาการ เพราะการจะพิสูจน์ฝีมือกันในตลาดเพลงอเมริกา นอกจากมีสตูดิโออัลบั้มแล้ว การทัวร์เพื่อเข้าถึงคนฟังนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างพลาดไม่ได้ เรียกว่าต้องโชว์ความสามารถในเชิงประจักษ์ให้เห็น ไม่ใช่ใช้แต่วิธีการโปรโมทตามกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว ยิ่งเป็นนักร้องหรือวงดนตรีหน้าใหม่ไร้ชื่อก็ต้องยิ่งทำงานในเชิงรุกอย่าง เข้มข้นและเคี่ยวกรำ

เมื่อมาย้อนดูอดีตบนเส้นทางดนตรีของฮิวโก เขาเริ่มต้นในฐานะแกนนำวงสิบล้อที่ออกอัลบั้มกันมาตั้งแต่ปี 2544 ใช้เวลา 4 ปี ในการออกอัลบั้มมา 4 อัลบั้ม เฉลี่ยแล้วปีละอัลบั้ม ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มากพอสมควรสำหรับวงดนตรีร๊อควงหนึ่ง หลังจากยุบวงในปี 2548 การเดินทางหาแรงท้าทายใหม่ๆ ทางดนตรีในระดับนานาชาติของโลกดนตรีร่วมสมัยตะวันตกก็เริ่มขึ้น

แม้ว่าในเมืองไทยต้นทุนทางสังคมในฐานะคนมีชื่อเสียงที่ผ่านทางสกุล และเงินทองช่วยให้เส้นทางต่างๆ เปิดกว้างอยู่พอสมควร แต่สิ่งหนึ่งที่ฮิวโกพิสูจน์ให้เห็นคือ พัฒนาการทางด้านเสียงร้องของเขาและความคิดทางดนตรีและการเขียนเนื้อร้องที่ ดีขึ้นเรื่อยๆ จนหาสไตล์ของตัวเองเจอ การเลือกทางลงโดยเดินออกจากวงสิบล้อและมุ่งสู่อังกฤษจึงเป็นจุดจบเส้นทาง ดนตรีในเมืองไทย สู่อุโมงค์ที่มืดมิดของเส้นทางดนตรีในอังกฤษ

ยกแรกกับความล้มเหลวในอังกฤษ แม้จะพอมีเครดิตทางด้านดนตรีจากเมืองไทยไป แต่ก็เหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ การเขียนเพลงของเขาสามารถเป็นใบเบิกทางด้วยความสามารถสู่เครือข่ายหรือคอน เนกชันในการทำงานเพลง ซึ่งแน่นอนเขาสามารถเชื่อมโยงสู่การติดต่อกับ อแมนดา โกสท์ (Amanda Ghost) คนที่ร่วมเขียนเพลงระดับเมกะฮิตที่ชื่อ ‘You're Beautiful’ ของ เจมส์ บลันต์ (James Blunt) ได้ และเริ่มทำงานเพื่อออกอัลบั้ม แต่เหตุการณ์ก็พลิกผัน การถูกยกเลิกสัญญาในการเป็นนักร้องในการออกอัลบั้มกับสังกัดเมเจอร์ของโลก ทำให้ดูเหมือนจบสิ้นเส้นทางดนตรีในระดับอินเตอร์ฯ

แต่ในปี 2550 ชื่อของฮิวโก ปรากฏร่วมในฐานะนักเขียนเพลงในบทเพลง ‘Disappear’ ซึ่งโด่งดังเป็นเพลงฮิต และบรรจุในอัลบั้ม ‘I am…Sasha Fierce’ ของซูเปอร์สตาร์ บียอนเซ่ (Beyonce Knowles) และนี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของฮิวโกบนเส้นทางดนตรี

ไม่ใช่แค่นี้ การมีส่วนร่วมในทีมเขียนเพลง อแมนดา โกสท์ ทำให้เขาได้รับการจับตามมอง โดยเฉพาะการเป็นคนไทยที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถทำงานได้ถึง ระดับนี้ ในปี 2552 อแมนดา โกสท์ ได้นั่งในตำแหน่งประธานของอีพิค เรคคอร์ดส์ ซึ่งเป็นบริษัทเพลงใหญ่ของโซนี่

จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มก้อนของคนทำเพลงหรือคอนเนกชันก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่ ตลาดเพลงระดับโลกของอเมริกาหรืออังกฤษ ซึ่งขั้นแรกต้องแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ในเรื่องการเขียนเพลงหรือ ดนตรีเสียก่อน หรือพูดง่ายๆ ว่ามีกึ๋นทางดนตรีและมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง และพร้อมที่จะหลอมละลายไปกับเส้นทางของธุรกิจเพลงด้วย ทีมโปรดักชันดนตรีหรือทีมทำเพลงมีอิทธิพลมากๆ ในการจะกำหนดชะตากรรมของคนดนตรีที่เข้ามาสู่เส้นทางนี้ และฮิวโกก็อยู่ในขอบข่ายนี้เช่นกัน

เมื่อหัวขบวน อแมนดา มีตำแหน่งใหญ่ในค่ายเพลงที่ทรงอิทธิพล การนำเสนออะไรก็ง่ายขึ้น เมื่อมาผนวกกับความสามารถซึ่งเป็นที่ยอมรับจากการร่วมเขียนเพลงที่บียอนเซ่ นำไปร้องในอัลบั้ม การเซ็นสัญญาเป็นนักร้องเพื่อทำงานออกอัลบั้มในค่าย Roc Nation ของ เจย์-ซี (Jay-Z) ซึ่งเป็นค่ายเพลงอิสระในเครือข่ายของโซนี่ แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า พลังทางความคิดหรือกึ๋นทางดนตรีของฮิวโก ที่ เจย์-ซี หรือมีชื่อเต็มว่า ฌอน คอร์ลีย์ คาร์เตอร์ (Shawn Corey Carter) ซึ่งปัจจุบันเป็นศิลปินฮิพฮอพเบอร์หนึ่งของอเมริกาและเป็นบุคคลในวงการดนตรี ที่ทำเงินสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว และมีภรรยาเป็นซูเปอร์สตาร์นักร้องในสายเอร์เบิ้น แบล๊ค มิวสิค คือ บียอนเซ่ ตอบรับเขา

เพราะฉะนั้น เมื่อคนดนตรีและอีกหนึ่งภาคในฐานะนักธุรกิจในอุตสาหกรรมเพลง ยอมรับถึงความแปลกใหม่โดดเด่นของฮิวโก และเชิญให้มาทำงานด้วยในสังกัดของตัวเองที่มีบุคลิกพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ก็ย่อมที่จะแสดงให้เห็นได้อย่างมีน้ำหนักที่แน่นหนาว่า ฮิวโก มีศักยภาพทางดนตรีที่โดดเด่นและสามารถสร้างจุดขายได้ไม่เหมือนใคร ซึ่งในอัลบั้ม Old Tyme Religion’ ของเขาจะเป็นคำตอบว่าเป็นอย่างไร?

ก่อนอื่นมาดูกลไกทางการตลาดที่ Roc Nation ค่ายเพลงปูพรมส่งฮิวโกออกสู่ตลาดเพลงในอเมริกาอย่างช้าๆ เน้นๆ ด้วยการนำบทเพลง ‘Disappear’ มาแสดงสดในเวอร์ชันอะคูสติกแบบฮิวโก และนำงานเพลงสุดฮิตของเจย์-ซี คือ ‘99 Problems’ มาคอฟเวอร์ตีความใหม่ในแนวทางดนตรีบลูส์กลาสส์-โฟล์คร๊อค ซึ่งฉีกออกไปจากเพลงดั้งเดิมและโดดเด่นแปลกหูแสดงถึงเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้น มาอย่างน่าพิศวง แต่ไม่ใช่ความแปลกใหม่ในแนวทางดนตรีที่ยังธรรมดาอยู่ในสายคันทรีซึ่งมีกัน ดาษดื่นอยู่แล้วในตลาดเพลงอเมริกัน และการเสริมอีกแรงด้วยซิงเกิล ‘Bread & Butter’ ที่ยังคงสไตล์ของดนตรีโฟล์คร๊อคกลิ่นอายบลูส์อยู่อบอวล

จุดที่น่าสังเกตที่ดีจุดหนึ่งของกระบวนการทางการตลาดของธุรกิจเพลงใน อเมริกาก็คือ การนำบทเพลงของศิลปินที่เรียกว่า มวยสร้าง ส่งโปรโมทในช่องทางที่เรียกว่า แมสหรือในวงกว้างคนฟังทั่วไป ที่ไม่ใช่ตลาดเพลงโดยตรงได้อย่างกลมกลืน ก็คือการส่งสองซิงเกิลดังกล่าว พ่วงไปกับแคมเปญชุดว่ายน้ำของ Victoria’s Secret รวมถึงบทเพลงที่ถูกนำไปเปิดในร้านเชนสโตร์ระดับยักษ์ใหญ่ อย่าง American Eagle Outfitters ที่มีกว่า 900 สาขาทั่วอเมริกา และแม็คโดนัลด์ที่มีกว่า 800 สาขา นอกจากนี้ยังมีพลังต่อรองที่สามารถนำเข้าไปเป็นเพลงประกอบซีรีส์และหนัง ฮอลลีวู้ดได้ด้วย อาทิ ‘Entourage’, ‘90210’ และ ‘Castle’

แม้ปัจจุบัน อัลบั้มเต็มของฮิวโกจะวางจำหน่ายไปแล้ว แต่ยังเห็นกระบวนการทางการตลาดที่เดินหน้าต่อไปในการสร้างศิลปินหน้าใหมไร้ ชื่อจากเอเชียให้โดดเด้งขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นถึงความอดทนและจิตใจที่ต้องยืนระยะฝ่าข้ามไปให้ได้ ซึ่งไม่ใช่จำเพราะกึ๋น ทักษะทางดนตรี และความคิดที่แสดงออกมาในตัวเพลงเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยหลายอย่างก็ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันในท่ามกลางนักร้องและวงดนตรี มากมายทั้งในอเมริกา อังกฤษ และทั่วโลกที่อยากจะขึ้นมายืนสูดอากาศตรงจุดนี้

ฮิวโก-จุลจักร จักรพงษ์ กำลังเริ่มต้นเดินทางสู่ระดับโลก อัลบั้ม ‘Old Tyme Religion’ ที่มีเพลงภาษาอังกฤษอีก 12 บทเพลงบรรจุอยู่มีดีอย่างไร ตอนหน้ามาวิเคราะห์ลงลึกกัน....
>>>>>>>>>>
……….
รายชื่อเพลงในอัลบั้ม Old Tyme Religion ของ ฮิวโก จุลจักร จักรพงษ์

1. ‘Old Tyme Religion’
2. ‘99 Problems’
3. ‘Bread & Butter’
4. ‘Rock n’ Roll Delight’
5. ‘Hopelessly Stoned’
6. ‘Hurt Makes It Beautiful’
7. ‘Born’
8. ‘Mekong River Delta’
9. ‘Sweetest Cure’
10. ‘Defferent Lives’
11. ‘Just A Shred’
12. ‘Sweetest Cure’
13. ‘Wake Alone’
14. สายลม’
>>>>>>>>>>>
………

No comments:

Post a Comment