Tuesday, 26 April 2011

Life & Family - Manager Online - มาดูแล เท้า ให้ญาติผู้ใหญ่ที่ป่วยเบาหวานกันเถอะ

Life & Family - Manager Online - มาดูแล เท้า ให้ญาติผู้ใหญ่ที่ป่วยเบาหวานกันเถอะ
มาดูแล "เท้า" ให้ญาติผู้ใหญ่ที่ป่วยเบาหวานกันเถอะ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2554 12:05 น.

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก http://www.sapaan.net
หากครอบครัวใดมี "ผู้สูงอายุ" ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เรื่องการดูแล "เท้า" เป็นเรื่องสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หรือติดเชื้ออย่างรุนแรง และอาจลุกลามจนต้องเสียนิ้วเสียขากันได้ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดกับญาติผู้ใหญ่ในบ้านอันเป็นที่รักอย่างแน่นอน

วันนี้ทีมงาน Life & Family มีความรู้เรื่องการดูแลเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจากแผนกอารุกรรม รพ.สมุทรปราการมาฝากเป็นแนวทางกัน

สำหรับสาเหตุที่ผู้สูงอายุป่วยเบาหวานแล้วเกิดแผลได้ง่ายกว่าคนปกติ นั้น ส่วนใหญ่มีการตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานมานาน และมีการเสื่อมของประสาทส่วนปลายที่ไปเลี้ยงมือ และเท้า ทำให้การรับความรู้สึกน้องลง เกิดอาการชา โดยเฉพาะนิ้วเท้า โอกาสเป็นแผลโดยไม่รู้ตัวย่อมเกิดได้ง่าย ซึ่งกว่าจะสังเกตพบ แผลอาจลุกลามไปมากแล้ว

เมื่อประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อขา และเท่าเสื่อม ส่งผลให้กล้ามเนื้อแฟบลง ทำให้รูปร่างของเท้าผิดปกติ นิ้วเท้าเริ่มงอ เท้ารับน้ำหนักไม่สม่ำเสมอ ส่วนบริเวณที่รับน้ำหนักมาก หรือถูกกดอยู่เป็นเวลานานจะหนาขึ้น เกิดเป็นตาปลา หรือเป็นแผล

นอกจากนั้น ผู้ป่วยเบาหวาน จะเกิดการไหลเวียนของเลือดที่ไปสู่ขาลดลง เนื่องจากผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น ทำให้ขาดอาหาร และออกซิเจน ส่งผลให้ผิวหนังบางลง แผลหายช้า เกิดอาการปวดที่น่องเวลาเดิน ถ้าเป็นมากจนหลอดเลือดอุดตัน เนื้อเยื่อส่วนปลายจะตาย มีสีคล้ำดำขึ้นจนเป็นเหตุให้ต้องตัดนิ้ว หรือนิ้วแห้งดำหลุดไปได้

อย่างไรก็ดี ญาติผู้ใหญ่ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นานจะเกิดการติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะเชื้อราที่ผิวหนังระหว่างนิ้วเท้า ทำให้ผิวหนังถลอก และมีแผลเกิดขึ้น อาจมีเชื้อโรคที่รุนแรงตามมาได้

เมื่อรู้สาเหตุถึงการเกิดแผลที่เท้ากันแล้ว ทีนี้มาดูวิธีป้องกันการเกิดแผลบริเวณเท้ากันบ้าง ซึ่งมีข้อสำคัญ ๆ ดังแนวทางต่อไปนี้

1. บ้านที่มีญาติผู้ใหญ่ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน ควรบอก หรือสำรวจเท้าของท่านทุกวัน เช่น มีรอยบวมแดง ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ขุยขาว ๆ ที่ซอกนิ้วเท้าหรือไม่ รวมไปถึงตาปลา และสีเล็บ

2. ทำความสะอาดเท้าทุกวัน โดยล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ และน้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่น ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด หรือร้อนมากเกินไป และควรเช็ดเท้ารวมทั้งตามซอกนิ้วเท้าให้แห้งทุกครั้ง

3. นวดผิวหนังที่ขา และเท้าด้วยน้ำมันวาสลิน หรือโลชันเพื่อให้ผิวหนังนุ่ม ป้องกันผิวหนังแห้ง ลดอาการคัน และเกาจนเกิดเป็นแผลขึ้นได้

4. อย่าใช้มีด หรือของมีคมตัดตาปลา

5. ถ้าเท้ามีเหงื่อออกมามาก ต้องเช็ดให้แห้งเสมอ

6. ถ้ามีแผลเล็กน้อย ควรล้างด้วยน้ำสะอาด ห้ามใช้ยาฆ่าเชื้อชนิดแรง หรือทิงเจอร์ไอโอดีน เพราะอาจทำให้แผลถลอกมากขึ้น ซึ่งถ้าแผลใหญ่มีลักษณะบวมแดง ต้องรีบปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุด

7. ลูก ๆ หลาน ๆ เวลาตัดเล็บให้ท่าน ควรตัดเล็บในที่สว่าง และเห็นได้ชัด ซึ่งควรตัดเล็บภายหลังอาบน้ำ เพราะเล็บจะนุ่ม ตัดง่ายขึ้น วิธีการตัด ควรตัดตรง ๆ ไม่ควรตัดสั้นเกินไป เพราะหากตัดสั้น และลึก จะพลาดเอาเนื้อจนเกิดเป็นแผลได้ง่าย

8. ใส่ถุงเท้าที่สะอาด และไม่ใช้ถุงเท้าที่รัดเกินไป เพราะจะทำเลือดไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก

9. การเลือกรองเท้าให้ท่าน ควรเลือกรองเท้าที่นุ่ม ใส่สบาย ระวังถ้าต้องใส่รองเท้าคู่ใหม่ ไม่ควรให้ท่านเดินเกินครึ่ง-1 ชั่วโมง และควรมีรองเท้าสำรอง 2-3 คู่ที่เหมาะสมไว้สำหรับสับเปลี่ยน

10. ไม่ควรเดินด้วยเท้าเปล่า และควรสวมรองเท้านุ่ม ๆ พื้นรองเท้าทำด้วยวัสดุกันลื่นขณะอยู่ในบ้าน

11. อย่าวางกระเป๋าน้ำร้อน หรือน้ำอุ่นไว้ที่เท้า ถ้าเท้าเย็นเวลานอนบอกให้ท่านใส่ถุงเท้า และควรเป็นถุงเท้าที่ไม่รัด

12. พยายามอย่าให้ท่านนั่งไขว้ขา เพราะจะไปกดเส้นเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก

13. ควบคุมเบาหวานให้ดี รักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ระหว่าง 90-150 มก./ดล.

14 การบริหารเท้าอย่างถูกวิธี เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังเท้า เป็นสิ่งที่ควรบอก หรือทำให้ท่านบ่อย ๆ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ โดยการเดินทุกวัน อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมง นอกจากเดินแล้ว ยังมีท่าบริหารต่าง ๆ ที่จะแนะนำต่อไปนี้

เริ่มจากการบริหารขาด้วย "ท่าแกว่งลูกตุ้มนาฬิกา"

บริหารขาด้วยท่าแกว่งลูกตุ้มนาฬิกา
- ยืนตรงใช้มือจับโต๊ะ หรือสิ่งที่ตรึงกับที่ป้องกันลื่นล้ม

- แกว่งขาไปข้างหลัง ไม่งอเข่า

- แกว่งขาไปข้างหน้า ไม่งอเข่า และพยายามยกขาให้สูงเท่าที่จะทำได้ เกร็งขาแล้วนับ 1 ถึง 10

- พอนับเสร็จให้แกว่งขาไปข้างหลังโดยไม่ต้องเกร็งขา และไม่ต้องนับ 1 ถึง 10

การบริหารน่อง

ท่าบริหารน่อง
- นั่งบนเก้าอี้

- ยกเท้าให้สูงจากพื้นเล็กน้อย แล้วเหยียดเท้าตรง

- เกร็งปลายนิ้วเท้าให้ชี้เข้าหาตัว โดยให้ส้นเท้าชี้ออกไปข้างหน้า เกร็งกล้ามเนื้อที่น่องแล้วนับ 1 ถึง 10

- คลายกล้ามเนื้อที่น่องทำสลับกัน

การบริหารข้อเท้า กล้ามเนื้อหลังเท้า และฝ่าเท้า

ท่าบริหารข้อเท้า กล้ามเนื้อหลังเท้า และฝ่าเท้า
- นั่งเก้าอี้ เหยียดเท้าตรง ยกสูงจากพื้นเล็กน้อย

- หมุนเฉพาะข้อเท้า ให้ปลายเท้าหมุนเป็นวงกลม ระวังอย่าหมุนเท้าจากหัวเข่า

- หมุนปลายเท้าเป็นวงกลม ทวนเข็มนาฬิกา และตามเข็มนาฬิกา ปฏิบัติทีละข้าง หรือจะหมุนเท้าพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็ได้

ส่วนการบริหารท่าสุดท้าย เป็น "ท่าเขย่งปลายเท้า" โดยยกขึ้นลง 6-12 ครั้ง พยายามให้ท่านทำหรือทำให้ท่านอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส

ดังนั้น ครอบครัวที่มีญาติผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระวังรักษา "เท้า" ให้ดี เพราะถ้าหากละเลยอาจลุกลามถึงต้องเสียนิ้ว หรือเสียขาไปเลยก็ได้..ในวันนี้ในฐานะลูก ๆ หลาน ๆ คุณเอาใจใส่ และสำรวจเท้าของท่านดีพอหรือยัง

No comments:

Post a Comment