Monday, 18 April 2011

Celeb Online - Manager Online - โลกใบใหญ่ของคนตัวเล็ก...อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์

Celeb Online - Manager Online - โลกใบใหญ่ของคนตัวเล็ก...อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 เมษายน 2554 14:32 น.





“พี่เป็นคน ชัดเจน รู้ชัดเจนว่าตัวเองเป็นกะเทยตั้งแต่เด็กๆ รู้ชัดเจนว่าตัวเองอยากเป็นช่างแต่งหน้า และตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้ามาในวงการนี้ พี่ก็ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนว่า ฉันต้องเป็น ‘ช่างแต่งหน้าชื่อดัง’ ให้ได้”

น้ำเสียงแหลมสูงแต่เน้นหนัก คือสิ่งยืนยันว่าทุกคำบอกกล่าวของ เป็ด-อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์ หรือ ‘พี่เป็ด’ ชายร่างเล็กผู้ประกาศตนเป็น ‘กะเทย’ อย่างสง่างามนี้ เป็นรสคำที่กลั่นจากเบื้องลึกในใจ เรื่องราวมากมายที่พรั่งพรูจากความทรงจำของเธอ จึงมากด้วยสีสันอันแพรวพราว ไม่ต่างจากแนวความคิดอันหนักแน่น ชัดเจน และจัดจ้านเพราะความ ‘เก๋า’





“การที่คุณเป็นช่างแต่งหน้า ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรู้จักเพียงแค่เทคนิคการแต่งหน้า แต่หมายความว่า คุณควรจะรู้จักเทคนิคการถ่ายภาพของช่างภาพชื่อดังในโลกนี้ด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อมีคนบอกคุณว่า อยากได้ภาพที่ถ่ายออกมาในสไตล์ช่างภาพคนนั้น คนนี้ คุณก็จะสามารถแต่งหน้าได้ตามที่เขาต้องการ ยิ่งไปกว่านั้น คุณก็ควรจะมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมให้เยอะๆ อย่าไปดูถูกตัวเองว่า คุณเป็นช่างแต่งหน้าแล้วจะต้องจบอยู่แค่ ‘เครื่องสำอาง’ "

แน่นอน ว่า 'ไม่รู้ก็ไม่ผิด' แต่เธอ ช่างแต่งหน้ามือวางอันดับต้นของเมืองไทยผู้นี้ ยังยืนยันว่านิสัยรักการอ่านทั้งหมั่นค้นคว้าหาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ ทำให้ได้รับคุณูปการอันใหญ่หลวง นั่นคือ โลกทัศน์อันแผ่ไพศาล กระทั่งสามารถเชื่อมโยงเทรนด์แฟชั่นและการแต่งหน้าเข้ากับประวัติศาสตร์ที่ บอกเล่าถึงความเป็นไปของโลกในแต่ละยุคสมัย





“แฟชั่นเมืองไทยเราก็แอบอิงกับแฟชั่นเมืองนอกนั่นแหละ เช่นในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุคทศวรรษ 40 (*หมาย เหตุจากผู้เขียน ทศวรรษ 40 ในที่นี้ หมายถึงช่วง ค.ศ. 1940-1949 แต่หากเอ่ยถึงระยะเวลาที่แน่นอนของสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ตรงกับช่วง ค.ศ. 1939-1945) ทั้งโลกขาดแคลนปัจจัยในการใช้ชีวิต
ชนิดที่ว่ายาควินินรักษาไข้ยังหาได้ยากเย็น เพราะฉะนั้น แฟชั่นแบบชุดผ้าซีฟองและชุดผ้าไหมพลิ้วๆ น่ะ ไม่มีอีกแล้ว

"ในยุคนี้ จำเป็นต้องตัดเสื้อผ้าด้วยผ้าแข็งๆ แบบผู้ชาย กลายเป็นชุดสูทที่มีเนื้อผ้าแข็งๆ แต่ตัดให้เป็นโครงผู้หญิง ดังนั้น แฟชั่นในยุค 40 ก็กลายเป็นยุคที่ผู้หญิงต้องใส่สูท ส่วนเครื่องสำอาง ก็มีแค่ลิปสติกสีแดงแท่งเดียว ซึ่งลิปสติกเพียงแท่งเดียวก็ถือว่ามีมูลค่ามหาศาลแล้วนะ แฟชั่นในยุคนี้ ไม่มีความละเมียดละไมแบบยุคทศวรรษก่อนหน้านี้เหลืออยู่อีกแล้ว”

อภิชาติ บอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองของตนอย่างเพลิดเพลินว่า เมื่อก้าวสู่ยุคทศวรรษ 50 เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวหลังจากสงคราม ทั้งโลกกำลังไต่ระดับขึ้นสู่ความก้าวหน้าอีกครั้ง ผู้หญิงยุคนี้ จึงคล้ายกับเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์แบบ สง่างามและรุ่มรวย





“แฟชั่นยุคนี้ เป็นยุคของ ‘มาริลีน มอนโร’ ‘ออเดรย์ เฮบเบิร์น’ ‘เกรซ เคลลี่’ เป็นยุคของความสง่างาม เย้ายวน แฟชั่นไทยก็ตรงกับยุคของนางเอกนวนิยายอย่าง ‘ปริศนา’ ผู้หญิงยุคนี้มีคอนเซ็ปต์หลักคือ ‘ต้องสวย’และพี่บอกได้เลยนะว่ายุคนั้นเป็นยุคที่โลกค้นพบ ‘ทองคำสีดำ’ คือ ‘น้ำมัน’ เศรษฐกิจโลกจึงเฟื่องฟูมาก

"และเมื่อถึงยุคทศวรรษ 60 ก็มีความพยายามมุ่งมั่น สร้างเทคโนโลยีสำรวจอวกาศ (*หมาย เหตุจากผู้เขียน ยุคที่อภิชาติเอ่ยถึงตรงกับช่วง ค.ศ.1961-1969 ที่สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา แข่งขันกันเป็นผู้นำในการสำรวจอวกาศ) และ ตัวแทนของผู้หญิงยุคอวกาศก็คือ ‘ทวิกกี้’ ที่มาพร้อมกระโปรงมินิสเกิร์ต แฟชั่นยุคนี้มีพลาสติกเป็นองค์ประกอบ เน้นสีสันแวววาว เป็นเมทัลลิก ให้ความรู้สึกคล้ายโลกอนาคต เป็นยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า เป็นยุคที่อเมริกาส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์”





อภิชาติยังบอกเล่าต่อไปถึงแฟชั่นยุคทศวรรษ 60 ต่อเนื่องไปถึงยุค 70 ว่าเป็นยุคสมัยของคนหนุ่ม-สาวผู้รักความอิสระเสรี ที่ เรียกกันว่าเหล่าบุปผาชนหรือ 'ฮิปปี้' นั่นเอง แฟชั่นของคนกลุ่มนี้เน้นสีสันสดใส เสื้อผ้ากรุยกราย ผมเผ้ารุงรังเป็นสังกะตัง ซึ่งอภิชาติมองว่าต้นกำเนิดของเทรนด์ดังกล่าว มีที่มาจากมหกรรมดนตรีกลางแจ้งที่วู้ดสต็อก นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1969 ก่อนได้รับความนิยมล้นหลาม กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของหนุ่มสาวในยุค 70 ซึ่งหนุ่มสาวต่างไปรวมตัวกัน ณ ที่นั้นเพื่อเสพรับบทเพลงแห่งเสรีภาพที่ศิลปินฃื่อดังพร้อมใจมาร่วมขับขาน


นอกจากบอกกล่าวถึงที่มาของบ่อเกิดกระแสฮิปปี้แล้ว อภิชาติยังเชื่อมโยงแฟชั่นยุคนี้จากมุมมองของช่างแต่งหน้าว่า ด้วยความเป็นเมืองหนาว ตื่นเช้ามาสาวๆ ไม่ต้องอาบน้ำเพียงแต่งหน้าให้สวยเช้งซ้ำรอยเดิม ปัดมาสคาร่าทับรอยเก่า ก่อเกิดเป็นเทรนด์มาสคาร่าแบบหนาเป็นแพ แห้งเกรอะกรัง ผมเผ้าก็ฟูรุงรัง



ทรรศนะของอภิชาติ ชวนให้เราฉุกคิดว่า เทรนด์ดังกล่าวอาจสะท้อนได้ถึงกระแสทางการเมืองของโลกยุคนั้น เป็นไปได้ว่า แฟชั่นดังกล่าวสื่อนัยถึงความเป็น 'ขบถ' ต่อต้านจารีตกรอบเกณฑ์ แล้วแสดงออกผ่านความอิสระของชีวิต เสียงเพลง รวมทั้งวิถีที่ไม่นำพาต่อขนบใดๆ ราวกับเป็นยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวต้องการ ประกาศสิทธิและเสียงในใจอันปรารถนาความสันติ ขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงการต่อต้านสังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาอาจแสดงออกเช่นนั้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลอเมริกัน เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 50 ต่อเนื่องถึงทศวรรษ 70 อเมริกาได้ส่งกองทัพเข้าไปร่วมรบในสงครามเวียดนามซึ่งทำให้มีผู้เสีย ชีวิตจากสงครามเป็นจำนวนมหาศาล


อภิชาติบอกเล่าต่อไปว่าความอิสระเสรีที่แสดงออกผ่านวิถีชีวิตและเทรนด์ แฟชั่นในยุคทศวรรษ 70 ยังนำไปสู่ความคิดนอกกรอบและนับเป็นการริเริ่มความแปลกใหม่ให้แก่แฟชั่น เช่น เริ่มมีการนำสีเทียนมาแต่งหน้า แต่งแต้มสีสันบนเปลือกตา จากเดิมที่มีเพียงอายไลน์เนอร์สีดำแต่งแต้มรอบดวงตาของหญิงสาว เมื่อความนิยมในสีสันจากสีเทียนแพร่หลาย ไม่นานนักสีเทียนอันแพรวพราวนับไม่ถ้วน จึงก่อเกิดเป็นเทรนด์ฮิตในยุคทศวรรษ 80 และเป็นที่มาของอายแชโดว์ในยุคปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในเครื่องสำอางที่สาวๆ ทั่วโลกติดอกติดใจ


อย่างไรก็ดี แม้จะพาคู่สนทนาเดินทางผ่านพบกับแฟชั่นแต่ละยุคสมัย ทว่า เมื่อเอ่ยถึง
เทรนด์แฟชั่นในปัจจุบัน อภิชาติกลับยืนยันว่า 'ไม่มีอะไรใหม่' ทุกสิ่งหมุนวน ซ้ำรอย ผู้คนหยิบยกเทรนด์ยุคนั้น ยุคนี้ ให้กลับมาฟื้นคืนชีวิตบนรันเวย์ บนปกนิตยสารและตามท้องถนนหนทาง ผ่านการตีความจากมุมมองในยุคโมเดิร์น




ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นหนึ่งในนั้น...ช่างแต่งหน้า ผู้ตามแกะรอยรากเหง้าของบรัชออน ลิปสติก มาสคาร่า สำรวจและค้นหาคำตอบ ค้นหาที่มาของเทรนด์แฟชั่นล้ำสมัยประดามีทั้งในอดีตและปัจจุบัน





จำเป็นแค่ไหนที่ต้องรอบรู้ถึงเพียงนั้น? แน่นอน เธอยังยืนยันคำตอบเดิม ‘ไม่รู้ก็ไม่ผิด’

แต่โลกทัศน์อันกว้างไกลเหล่านั้น อย่างน้อยที่สุด ย่อมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เธอ ยืนหยัดอยู่ในวงการแห่งแสงสีสรรพมายามาได้อย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 25 ปี ทั้งได้รับการเคารพ ให้เกียรติ และถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘เมคอัพอาร์ตติสท์’ มือหนึ่งของเมืองไทย

“อย่าดัดจริต เลยค่ะ พี่ไม่เรียกตัวเองว่าเมคอัพอาร์ตติสท์อะไรหรอก เรียกภาษาไทยตรงตัว ง่ายๆ นี่แหละค่ะ พี่เป็นช่างแต่งหน้าและพี่ก็เรียกตัวเองว่าเป็นช่างแต่งหน้า”





ครั้นถามว่าเป็นช่างแต่งหน้ามือหนึ่งไหม? เธอบอกว่าไม่รู้ แต่ถ้าถามว่าชื่อดังไหม เธอบอกว่าใช่...

“พี่เป็นช่างแต่งหน้าชื่อดัง ก็ถ้าไม่ดัง คุณจะมาสัมภาษณ์พี่เหรอคะ?”

เนิ่นนานกว่า 2 ทศวรรษ นับแต่ย่างก้าวเข้ามาในวงการ 'เบื้องหลังโลกมายา' ที่ 'แรงเสียดทานและการแข่งขันสูง' แต่เธอก็ยังหนักแน่น จัดจ้าน และชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง

...อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์


...............


เรื่องโดย : นางสาวยิปซี
ภาพโดย : วรงค์กรณ์ ดินไทย

No comments:

Post a Comment